รู้จักโครงการ
ธนาคารกระดูกและเนื้อเยื่อ (Bone and tissue bank) มีหน้าที่ให้บริการจัดเก็บกระดูกและเนื้อเยื่อที่ต้องการ เช่น เส้นเอ็นของร่างกายมนุษย์ที่บริจาค และกระดูกที่ถูกตัดจากการทำข้อเทียมจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือกระดูกที่ได้รับบริจาคจากผู้ที่เสียชีวิตโดยส่วนของกระดูกที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ คือ กระดูกต้นขา, กระดูกหน้าแข้ง, กระดูกแขน, กระดูกขากรรไกร, กระดูกอ่อน, กระดูกหัวสะโพก, กระดูกข้อเข่า, กระดูกเชิงกราน, กระดูกข้อเท้า, กระดูกกะโหลก, กระดูกนิ้วมือ และกระดูกข้อไหล่ แล้วนำไปใช้ทดแทนกระดูกหรือเนื้อเยื่อของผู้ป่วยที่ถูกผ่าตัดออก เช่น มะเร็งกระดูกหรือจากอุบัติเหตุ โดยกระดูกที่บริจาคที่จะนำไปใช้กับผู้ป่วยนั้นเรียกว่าเนื้อเยื่อปลูกถ่ายเอกพันธุ์ (Allograft)
ในประเทศไทยนั้นมีธนาคารกระดูกและเนื้อเยื่อเพียงไม่กี่แห่ง และไม่สามารถจัดหากระดูกให้เพียงพอต่อการนำไปใช้กับผู้ป่วยภายในประเทศหรือแม้แต่ในสถาบันนั้นเอง ซึ่งทำให้แพทย์ต้องใช้การผ่าตัดทางเลือกอื่นๆ ที่ได้ผลดีไม่เท่ากับการใช้ allograft หรือใช้วัสดุเทียมอื่นๆ เช่น endoprosthesis, bone substitute จากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพงมาทดแทน หากไม่สามารถจัดหากระดูกมาทดแทนได้ก็จำเป็นต้องตัดแขนขาของผู้ป่วยออก ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียทั้งอวัยวะและเงินอย่างมหาศาล ปัจจุบันการจัดเก็บกระดูกและกระบวนการทำปราศจากเชื้อ (Sterilization) ในประเทศไทยยังไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการนำกระดูกนั้นไปใช้ เช่น การติดเชื้อหลังผ่าตัด การแตกหักของกระดูก เป็นต้น
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีความสามารถและหน้าที่ในการดำเนินและพัฒนาธนาคารกระดูกให้ประสบความสำเร็จได้ และยังสามารถใช้ทรัพยากรของธนาคารกระดูกและเนื้อเยื่อในการต่อยอดงานวิจัยอื่นๆ ได้อีกเป็นจำนวนมาก จึงได้ริเริ่มโครงการธนาคารกระดูกและเนื้อเยื่อขึ้นเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่จะรองรับวัตถุประสงค์ดังกล่าว และพัฒนาขึ้นต่อไปเพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วย โรงพยาบาล และวงการแพทย์ไทยในอนาคต การจัดตั้งโครงการธนาคารกระดูกและเนื้อเยื่อ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้ จะเป็นความร่วมมือกันกับทางศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยโครงการธนาคารกระดูกและเนื้อเยื่อ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะทำหน้าที่ในส่วนการจัดเก็บกระดูกจากผู้บริจาค (Procurement), การเก็บกักกันกระดูกและเนื้อเยื่อ (Quarantine storage), วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product research and development), การจัดเก็บ (Storage), และการกระจายผลิตภัณฑ์ (Product distribution) และในส่วนศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จะรับผิดชอบในส่วนของผู้บริจาค (Organ donor) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ขั้นสูง (EC–ATMPs) จะรับผิดชอบในส่วนการให้พื้นที่ผลิตสำหรับการแปรรูปกระดูกในห้องปฏิบัติการ (Laboratory processing)
ปัจจุบัน ผู้ป่วยโรคกระดูกที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนกระดูกเพื่อการรักษานั้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี และยังคงต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์ทดแทนกระดูกประเภทต่าง ๆ จากภายนอกโรงพยาบาลและจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาที่ค่อนข้างสูงและไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในปัจจุบัน ดังนั้นการดำเนินงานของโครงการธนาคารกระดูกและเนื้อเยื่อ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะช่วยสนับสนุนการให้บริการผลิตภัณฑ์ทดแทนกระดูกแบบพร้อมใช้ เพื่อให้เพียงพอต่อการนำไปรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกและข้ออย่างเป็นระบบและครบวงจร ทั้งจากกระบวนการประสานงานขอรับบริจาคกระดูก กระบวนการจัดเก็บกระดูกจากผู้บริจาคในห้องผ่าตัด กระบวนการทดสอบความปราศจากเชื้อขั้นต้นและขั้นสุดท้ายก่อนนำไปใช้ กระบวนการจัดเก็บ-กักกันกระดูกและเนื้อเยื่อ กระบวนการกระจายผลิตภัณฑ์ไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการใช้ รวมทั้งวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทดแทนกระดูกชนิดใหม่ๆ เพื่อเป็นแนวทางเลือกใหม่ให้กับแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา โดยกระบวนการดำเนินงานทั้งหมดนี้จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจำเพาะทางในด้านนั้นๆ เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างเป็นระบบ ครบวงจร มีมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพสำหรับการให้บริการการรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อ ทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ต่อไป
วิสัยทัศน์
โครงการธนาคารกระดูกและเนื้อเยื่อ จุฬาฯ มุ่งมั่นเป็นศูนย์กลางในการจัดเก็บ รักษา แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ทดแทนกระดูกที่ได้รับมาตรฐาน มีความปลอดภัย ที่ตอบสนองความต้องการของแพทย์ผู้รักษา ทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
พันธกิจ
- เป็นศูนย์กลางการจัดเก็บ รักษา แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ทดแทนกระดูกที่ได้รับมาตรฐาน และกระจายการบริการไปยังส่วนงานต่าง ๆ ที่ต้องการใช้บริการทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
- สนับสนุนการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยนวัตกรรมวัสดุทดแทนกระดูก เพื่อลดต้นทุนการผลิต ให้เป็นแนวทางเลือกหนึ่งที่ตอบสนองความต้องการของแพทย์ผู้รักษา และพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรโครงการธนาคารกระดูกและเนื้อเยื่อ จุฬาฯ